วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

การอ่านกับอาเซียน



การอ่านเพื่อมุ่งพัฒนาสู่อาเซียน
     “การอ่าน” เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนากระบวนการคิด และภูมิปัญญา นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพคน สังคมและประเทศ แต่นิสัยคนไทยยังไม่ค่อยรักการอ่าน ซึ่งผลสำรวจพฤติกรรมการอ่านหนังสือของคนไทย พบว่าการหนังสือเฉลี่ยเพียงปีละ 5 เล่ม ต่อคน นับว่าต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างเช่น ประเทศมาเลเซีย มีสถิติการถ่านหนังสือปีละ 40 เล่มต่อคน หรือประเทศสิงคโปร์ เฉลี่ยปีละ 70 เล่มต่อคน แม้แต่เวียดนาม ที่มีการอ่านหนังสือปีละ 60 เล่มต่อคน (ข้อมูลจากการดูรายการ ช่วยคิดช่วยทำ ทางช่อง 3 วันที่ 30 มี.ค. 55)
ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยยังขาดนิสัยรักการอ่านเป็นอย่างมาก แต่นิสัยคนไทยมักมีค่านิยมของการอ่าน เพื่อความบันเทิง เพื่อความสนุกสนาน แต่ไม่ค่อยอ่านหนังสือประเภทที่จะสามารถสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ หรือแม้กระทั่งการอ่านภาษาอังกฤษ คนไทยก็ยังไม่สนใจอ่าน ซึ่งหนังสือที่คนมักชอบอ่าน เช่น เรื่องย่อละคร หนังสือพิมพ์กีฬา หรือค่านิยมของเทคโนโลยีการสื่อสาร เช่น เล่น Internet , facebook เป็นต้น จนทำให้คนไทยมีพฤติกรรมที่ มี High Relationship Technology แต่ Low Relationship persons ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวอาจส่งผลให้คนไทยที่เคยอยู่ในสังคมแบบมีความเอื้ออาทรซึ่งกันและกันเริ่มจะจางหายไปจากสังคมลงไปเรื่อยๆ
ในโอกาสที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียน (ASEAN) ในปี 2558 ในฐานะห้องสมุดเป็นองค์กรหนึ่งที่มีบทบาทและมีความสำคัญในการส่งเสริมและให้บริการการเรียนรู้ สนับสนุนประชาชนทางด้านการศึกษา ช่วยพัฒนาประชาชนให้เข้าถึงข้อมูลสารสนเทศและเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยจะต้องมีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนห้องสมุดให้ทันกับยุคสมัย ก้าวทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมถึง การพัฒนาบุคลากรห้องสมุดเพื่อเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ซึ่งคนเป็นปัจจัยสำคัญในการเป็นผู้ปฏิบัติงาน ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ของ ประชากร การให้บริการวิชาการแก่มหาวิทยาลัย และองค์กรอื่น ๆ เพื่อให้สามารถที่จะแสวงหาความรู้ และข้อมูลสารสนเทศ ในการสร้างองค์ความรู้และผลิตบุคลากร ที่มีคุณภาพ ตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมาย
ดังนั้นห้องสมุดควรเห็นความสำคัญของการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้บุคลากร มีใจรักการอ่าน เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์สังคมการเรียนรู้ในองค์กร ผ่านกระบวนการส่งเสริมให้เกิดการรักการอ่าน การแสวงหาความรู้ และการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งของการยกระดับกระบวนการคิดในการพัฒนาตนเอง ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติงานในห้องสมุดจำเป็นต้องเป็นผู้ใฝ่เรียนรู้อยู่เสมอ ซึ่งรากฐานของการอ่าน อันนำไปสู่ความสามารถในการคิด วิเคราะห์ สร้างสรรค์ เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกได้อย่างยั่งยืน
ซึ่งกิจกรรมส่งเสริมการอ่านก็เป็นโครงการหนึ่งที่อาเซียนให้ความสำคัญ ด้วยการพยายามร่วมมือกันมาตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1967 ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางที่น่าสนใจ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ และการสร้างความเข้าใจความเป็นประชาคมอาเซียน ด้วยการนำเทคโนโลยีสื่อสารมาปรับใช้ในกิจกรรมการอ่าน เช่น ประเทศสิงคโปร์ส่งเสริมการอ่านของพลเมืองในประเทศโดยให้สามารถดาวน์โหลดเรื่องสั้นอ่านบนมือถือได้ ซึ่งสะดวกและรวดเร็ว โดยจะเน้นจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านเพื่อให้พลเมือง ในทุกกลุ่มอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น คนขับแท็กซี่ ช่างผม ครู มาตั้งกลุ่มการอ่าน หรือชมรมการอ่าน ในหมู่ที่ทำอาชีพเดียวกัน และเน้นการว่างแผนพัฒนาระบบห้องสมุดให้เป็นห้องสมุด ดิจิตอลหรือประเทศสมาชิกอื่น ๆ ก็ให้ความสำคัญกับกิจกรรมหรือโครงการส่งเสริมการอ่าน เช่น มาเลเซีย เวียดนาม ลาว
จากข้อมูลเบื้องต้นทำให้เห็นว่าห้องสมุด เกือบทุกประเทศในประเทศสมาชิกาประชาคมอาเซียนให้ความสำคัญกับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน โดยมีความเชื่อมั่นว่าการอ่านจะทำให้คนมีคุณภาพ มีความเท่าเทียมกัน ช่วยยกระดับชีวิตของคนอ่าน รวมไปถึงการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม และสร้างชาติบ้านเมืองให้พัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ดังนั้นห้องสมุดเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนาประชาชนคนไทยให้มีนิสัยรักการอ่าน โดยจะต้องเริ่มที่การปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้กับบุคลากรผู้ปฏิบัติงานในห้องสมุดก่อน ด้วยการกำหนดยุทธ์ศาสตร์ นโยบายของห้องสมุดโดยมีการกำหนดเป้าหมาย เช่น การส่งเสริมพฤติกรรมการอ่าน ส่งเสริมความสนใจเฉพาะด้าน ความเท่าทันเรื่องข้อมูลข่าวสาร การ ปลูกจิตสำนึกและชี้ให้เห็นความสำคัญของการอ่าน และยกระดับไปสู่การสร้างวัฒนธรรมการอ่าน ของคนในองค์กร และขยายไปถึงชุมชนต่าง ๆ หรือ การพัฒนาห้องสมุดให้เป็นห้องสมุดดิจิตอล ที่ประชาชน เข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา เป็นการอำนวยความสะดวกให้คนเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น
ซึ่งกิจกรรมส่งเสริมการอ่านเพื่อเตรียมพร้อมรับความเป็นประชาคมอาเซียนในความคิดเห็นของผู้เขียน เช่น
1.ด้านข้อมูลพื้นฐานประเทศอาเซียน เช่น การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณี ศิลปะ ระบบการศึกษา เทคโนโลยี ของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยจัดโครงการส่งเสริมการอ่าน ด้วยการให้แต่ละคนศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียนในประเด็นดังกล่าว แล้วนำมาแลกเปลี่ยนให้เพื่อนร่วมงานฟังโดยอาศัยเวทีการประชุมประจำสัปดาห์ วันละ 15 นาที ซึ่งเป็นการฝึกให้บุคลากรห้องสมุดได้กล้าแสดงออก มีทักษะการนำเสนอ แสดงความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ซึ่งอาจทำเป็นทีม (2-3 คน)เพื่อจะได้ความคิดที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมการทำงานเป็นทีม
2.ด้านภาษาและการสื่อสาร ควรศึกษาเรื่อง ภาษาถิ่น คำทักทายของแต่ละประเทศ แล้วนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนร่วมงาน
3.สำหรับการอ่านภาษาอังกฤษ ขั้นแรกทุกคนควรจะฝึกตนเองด้วยการหัดอ่านภาษาอังกฤษ จากหนังสือพิมพ์ หรือ หนังสือที่เราสนใจ ที่มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษประกอบ ซึ่งเทคนิคการอ่านภาษาอังกฤษให้เข้าใจได้เร็วขึ้นนั้น เราควรมีความรู้เรื่องนั้น ๆ ทีเป็นภาษาไทยก่อนแล้วเราจึงจะสามารถสรุปความหรือทำความเข้าใจได้เร็ว ซึ่งการอ่านภาษาอังกฤษไม่จำเป็นต้องแปลทุกตัวอักษร ฝึกอ่านทุกๆ วัน ๆ ละประโยค 2 ประโยค แล้วจะได้ไปเองค่ะ
4.การสื่อสารภาษาอังกฤษ ปัจจุบันมีหนังสือมากมายที่เขียนประโยคภาษาอังกฤษสำหรับการสื่อสาร เราควรอ่านอย่างสม่ำเสมอ แล้วจะเกิดการเรียนรู้ไปเอง(เทคนิคที่ผู้เขียนปฏิบัติ)
ห้องสมุดเป็นองค์กรสำคัญในการเป็นองค์กรที่เปิดประตูสู่โลกแห่งการสร้างประสบการณ์ด้านการอ่าน ของคนไทย ซึ่งรากฐานของการอ่าน อันนำไปสู่ความสามารถในการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ สร้างสรรค์ เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกได้อย่างยั่งยืน ด้วยการกำหนดเป็นยุทธ์ศาสตร์หรือนโยบายในการส่งเสริมการอ่านทั้งบุคลากรห้องสมุดและขยายไปสู่สังคมภายนอกเพื่อตอบสนองความต้องการสำหรับผู้อ่านกลุ่มต่าง ๆ ได้มากขึ้น
To gain more and more knowledge is a crucial matter of life.  หมั่นแสวงหาวิชาใส่ตัวเป็นเรื่องสำคัญสำหรับชีวิต

ขอขอบคุณขอความดีๆ จาก คุณ Rossarin มหาวิทยาลัยศิลปากร

ความเป็นมาของบ้านหนังสืออัจฉริยะ

บ้านหนังสืออัจฉริยะกศน.กระจายความรู้

'บ้านหนังสืออัจฉริยะ'กศน.ดอกเห็ดเล็กๆกระจายความรู้สู่ชุมชน : โดย...สุพินดา ณ มหาไชย

               "บ้านหนังสืออัจฉริยะ" ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เร่งตั้งขึ้นตามหมู่บ้านต่างๆ ให้ครบ 41,800 แห่ง ภายในปี 2556 นั้น แต่ละแห่งจะได้รับงบประมาณสำหรับจัดซื้อหนังสือพิมพ์รายวันจำนวน 2 ฉบับต่อวัน หนังสือนิตยสารรายสัปดาห์ เดือนละ 4 ฉบับ หนังสือนิตยสารรายปักษ์ เดือนละ 2 ฉบับ นอกจากนั้น เครือข่ายของ กศน.ในพื้นที่จะระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจัดหาหนังสืออื่นๆ มาให้เพิ่มเติมด้วย ถ้าเป็นตามนี้ "บ้านหนังสืออัจฉริยะ" จะเป็นเช่นดัง "ดอกเห็ด" ที่ผุดขึ้นถ้วนทั่วทุกชุมชน เพื่อเป็นเครื่องมือเล็กๆ แต่ใกล้ตัวประชาชน สำหรับพัฒนานิสัยรักการอ่านให้แก่ผู้คนทุกเพศทุกวัย
                 ป้าทองลั่น นามกูล วัย 65 ปี เปิดบ้านชั้นเดียวที่พักอาศัยอยู่เป็น บ้านหนังสืออัจฉริยะ ใน ต.บ้านกล้วย อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี
                ก่อนหน้านี้บ้านของ ป้าทองลั่น ก็ให้บริการเล็กๆ น้อยๆ ในด้านนี้อยู่แล้ว เพราะความที่ ป้าทองลั่น เป็นคนชอบอ่านหนังสือมาแต่ไหนแต่ไร บ้านแห่งนี้จึงรับหนังสือพิมพ์มาไม่เคยขาดตั้งแต่ปี 2519 ซึ่งหนังสือพิมพ์ราคาแค่ 1 บาท บางครั้งก็รับนิตยสารด้วย อย่างเช่น ขวัญเรือน กุลสตรี 
                ชาวบ้าน เด็กๆ ในหมู่บ้าน จึงมาอาศัยอ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสารที่บ้านแห่งนี้เป็นประจำ บ้านป้าทองลั่น กลายเป็นแหล่งพบปะย่อมๆ ของในหมู่บ้าน เมื่อ กศน.ทำโครงการส่งเสริมการอ่านก็ได้นำหนังสือบางส่วนมาประจำไว้ที่บ้านหลังนี้ และในที่สุด คุณป้าทองลั่น ซึ่งปัจจุบันเป็นนักเรียนของ กศน.ระดับ ม.ต้น อยู่ ได้ตัดสินใจเข้าร่วม โครงการบ้านหนังสืออัจฉริยะ เปลี่ยนบ้านตัวเองให้เป็น "คลังปัญญาของชุมชน"  
                "หนังสือเป็นประโยชน์ต่อคนทุกเพศทุกวัย บางคนไม่มีโอกาสได้เรียนสูงๆ ก็ได้อาศัยหนังสือเป็นตัวเพิ่มพูนความรู้ให้เจ้าตัว อย่างที่หมู่บ้านนั้น คนที่มาอ่านหนังสือเป็นประจำ คือ กลุ่มผู้สูงอายุ อยู่บ้านว่างๆ ไม่มีอะไร ก็จะมาขอยืมหนังสือไปอ่าน ทำให้ได้ความรู้ต่างๆ เพิ่มเติม เช่น เรื่องใกล้ตัวอย่าง พืชผัก สมุนไพร พวกเขาก็ได้ความรู้เพิ่มเติมไปใช้ในชีวิตประจำวันได้" ป้าทองลั่น กล่าวและว่า ถ้ามีห้องสมุดอยู่ในชุมชนจะช่วยปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้คนไทยได้มากขึ้น และวิธีปลูกฝังนิสัยรักการอ่านที่ดีสุดให้แก่เยาวชน คือ การทำเป็นตัวอย่าง ทุกวันนี้หลานชายที่อยู่ ป.1 ชอบอ่านหนังสือ อ่านเขียนได้คล่อง เพราะเขาเห็นทุกคนในบ้านอ่านหนังสือมาตั้งแต่เขาเล็กๆ จึงซึมซับและกลายเป็นคนรักการอ่านตาม
                ประเสริฐ บุญเรือง เลขาธิการ กศน. กล่าวว่า กศน. ได้จัดทำโครงการบ้านหนังสืออัจฉริยะ เพื่อให้เป็นห้องสมุดประจำหมู่บ้านสำหรับประชาชน ช่วยส่งเสริมให้คนไทยรักการอ่านบ้านหนังสืออัจฉริยะ ยังช่วยการกระจายโอกาสการเข้าถึงองค์ความรู้ ข่าวสารได้อย่างทั่วถึงและกว้างขวางด้วย ช่วงแรกมีเป้าหมายจัดตั้งบ้านหนังสืออัจฉริยะในพื้นที่ปกติ 4 หมื่นหมู่บ้าน จาก 8 หมื่นหมู่บ้านและจัดตั้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา 1,800 แห่ง
                "โดยได้สนับสนุนงบประมาณแห่งละ 11,500 บาท เพื่อจัดหาหนังสือเข้าห้องสมุด นอกจากบ้านหนังสืออัจฉริยะจะเป็นแหล่งจัดกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมการอ่านหนังสือ กิจกรรมอื่นๆ เช่น การอ่านหนังสือธรรมะ มีกิจกรรมนั่งวิปัสสนา นั่งสมาธิ กิจกรรมสร้างรายได้ รวมถึงเป็นสถานที่จัดอบรมฝึกอาชีพด้วย" เลขาธิการ กศน.กล่าวด้วยรอยยิ้ม
                ประเสริฐ บอกด้วยว่า เมื่อบ้านหนังสืออัจฉริยะเฟสแรกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในปี 2557 กศน.จะจัดตั้งบ้านหนังสือในอีก 4 หมื่นหมู่บ้านที่เลือกที่สุดแล้ว ทุกหมู่บ้านจะมีห้องสมุดขนาดย่อมนี้ครบทุกแห่ง
                พงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยืนยันความสำคัญของการอ่านหนังสือว่า มีหลายคนที่ได้ดีจากการอ่านหนังสือเพียงเล่มเดียว เป็นการอ่านหนังสือที่ช่วยเปลี่ยนชีวิต อีกทั้งปัจจุบันแม้จะมีเทคโนโลยีไฮเทคต่างๆ เช่น สมาร์ทโฟน ไอแพด แท็บเล็ต แต่หนังสือก็ยังมีความสำคัญอยู่ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถหาความรู้และรับข้อมูลข่าวสารจากเทคโนโลยีได้ ความรู้ต่างๆ ในหนังสือก็ไม่ได้มีอยู่ในอุปกรณ์เทคโนโลยีสมัยใหม่ครบทั้งหมด
                “กระทรวงศึกษาฯ หวังว่า จะมีผู้มีจิตศรัทธายอมเปิดบ้านตนเองให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ทำให้สาธารณชนได้เห็นประโยชน์ของการอ่านและกิจกรรมเหล่านี้ โดยช่วยกันบริจาคหนังสือเข้ามาเยอะๆ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาความรู้ของคนไทย และสอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลต้องการให้ประชาชนเรียนรู้ตลอดชีวิต“ รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

.....................................
 ('บ้านหนังสืออัจฉริยะ'กศน.ดอกเห็ดเล็กๆกระจายความรู้สู่ชุมชน : โดย...สุพินดา ณ มหาไชย)

ห้องสมุดประชาชน "เฉลิมราชกุมารี" อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ขอขอบคุณบทความดีๆจากคุณ สุพินดา ณ มหาไชย