บ้านหนังสืออัจฉริยะกศน.กระจายความรู้
'บ้านหนังสืออัจฉริยะ'กศน.ดอกเห็ดเล็กๆกระจายความรู้สู่ชุมชน : โดย...สุพินดา ณ มหาไชย
"บ้านหนังสืออัจฉริยะ" ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เร่งตั้งขึ้นตามหมู่บ้านต่างๆ ให้ครบ 41,800 แห่ง ภายในปี 2556 นั้น แต่ละแห่งจะได้รับงบประมาณสำหรับจัดซื้อหนังสือพิมพ์รายวันจำนวน 2 ฉบับต่อวัน หนังสือนิตยสารรายสัปดาห์ เดือนละ 4 ฉบับ หนังสือนิตยสารรายปักษ์ เดือนละ 2 ฉบับ นอกจากนั้น เครือข่ายของ กศน.ในพื้นที่จะระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจัดหาหนังสืออื่นๆ มาให้เพิ่มเติมด้วย ถ้าเป็นตามนี้ "บ้านหนังสืออัจฉริยะ" จะเป็นเช่นดัง "ดอกเห็ด" ที่ผุดขึ้นถ้วนทั่วทุกชุมชน เพื่อเป็นเครื่องมือเล็กๆ แต่ใกล้ตัวประชาชน สำหรับพัฒนานิสัยรักการอ่านให้แก่ผู้คนทุกเพศทุกวัย
ป้าทองลั่น นามกูล วัย 65 ปี เปิดบ้านชั้นเดียวที่พักอาศัยอยู่เป็น บ้านหนังสืออัจฉริยะ ใน ต.บ้านกล้วย อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี
ก่อนหน้านี้บ้านของ ป้าทองลั่น ก็ให้บริการเล็กๆ น้อยๆ ในด้านนี้อยู่แล้ว เพราะความที่ ป้าทองลั่น เป็นคนชอบอ่านหนังสือมาแต่ไหนแต่ไร บ้านแห่งนี้จึงรับหนังสือพิมพ์มาไม่เคยขาดตั้งแต่ปี 2519 ซึ่งหนังสือพิมพ์ราคาแค่ 1 บาท บางครั้งก็รับนิตยสารด้วย อย่างเช่น ขวัญเรือน กุลสตรี
ชาวบ้าน เด็กๆ ในหมู่บ้าน จึงมาอาศัยอ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสารที่บ้านแห่งนี้เป็นประจำ บ้านป้าทองลั่น กลายเป็นแหล่งพบปะย่อมๆ ของในหมู่บ้าน เมื่อ กศน.ทำโครงการส่งเสริมการอ่านก็ได้นำหนังสือบางส่วนมาประจำไว้ที่บ้านหลังนี้ และในที่สุด คุณป้าทองลั่น ซึ่งปัจจุบันเป็นนักเรียนของ กศน.ระดับ ม.ต้น อยู่ ได้ตัดสินใจเข้าร่วม โครงการบ้านหนังสืออัจฉริยะ เปลี่ยนบ้านตัวเองให้เป็น "คลังปัญญาของชุมชน"
"หนังสือเป็นประโยชน์ต่อคนทุกเพศทุกวัย บางคนไม่มีโอกาสได้เรียนสูงๆ ก็ได้อาศัยหนังสือเป็นตัวเพิ่มพูนความรู้ให้เจ้าตัว อย่างที่หมู่บ้านนั้น คนที่มาอ่านหนังสือเป็นประจำ คือ กลุ่มผู้สูงอายุ อยู่บ้านว่างๆ ไม่มีอะไร ก็จะมาขอยืมหนังสือไปอ่าน ทำให้ได้ความรู้ต่างๆ เพิ่มเติม เช่น เรื่องใกล้ตัวอย่าง พืชผัก สมุนไพร พวกเขาก็ได้ความรู้เพิ่มเติมไปใช้ในชีวิตประจำวันได้" ป้าทองลั่น กล่าวและว่า ถ้ามีห้องสมุดอยู่ในชุมชนจะช่วยปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้คนไทยได้มากขึ้น และวิธีปลูกฝังนิสัยรักการอ่านที่ดีสุดให้แก่เยาวชน คือ การทำเป็นตัวอย่าง ทุกวันนี้หลานชายที่อยู่ ป.1 ชอบอ่านหนังสือ อ่านเขียนได้คล่อง เพราะเขาเห็นทุกคนในบ้านอ่านหนังสือมาตั้งแต่เขาเล็กๆ จึงซึมซับและกลายเป็นคนรักการอ่านตาม
ประเสริฐ บุญเรือง เลขาธิการ กศน. กล่าวว่า กศน. ได้จัดทำโครงการบ้านหนังสืออัจฉริยะ เพื่อให้เป็นห้องสมุดประจำหมู่บ้านสำหรับประชาชน ช่วยส่งเสริมให้คนไทยรักการอ่านบ้านหนังสืออัจฉริยะ ยังช่วยการกระจายโอกาสการเข้าถึงองค์ความรู้ ข่าวสารได้อย่างทั่วถึงและกว้างขวางด้วย ช่วงแรกมีเป้าหมายจัดตั้งบ้านหนังสืออัจฉริยะในพื้นที่ปกติ 4 หมื่นหมู่บ้าน จาก 8 หมื่นหมู่บ้านและจัดตั้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา 1,800 แห่ง
"โดยได้สนับสนุนงบประมาณแห่งละ 11,500 บาท เพื่อจัดหาหนังสือเข้าห้องสมุด นอกจากบ้านหนังสืออัจฉริยะจะเป็นแหล่งจัดกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมการอ่านหนังสือ กิจกรรมอื่นๆ เช่น การอ่านหนังสือธรรมะ มีกิจกรรมนั่งวิปัสสนา นั่งสมาธิ กิจกรรมสร้างรายได้ รวมถึงเป็นสถานที่จัดอบรมฝึกอาชีพด้วย" เลขาธิการ กศน.กล่าวด้วยรอยยิ้ม
ประเสริฐ บอกด้วยว่า เมื่อบ้านหนังสืออัจฉริยะเฟสแรกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในปี 2557 กศน.จะจัดตั้งบ้านหนังสือในอีก 4 หมื่นหมู่บ้านที่เลือกที่สุดแล้ว ทุกหมู่บ้านจะมีห้องสมุดขนาดย่อมนี้ครบทุกแห่ง
พงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยืนยันความสำคัญของการอ่านหนังสือว่า มีหลายคนที่ได้ดีจากการอ่านหนังสือเพียงเล่มเดียว เป็นการอ่านหนังสือที่ช่วยเปลี่ยนชีวิต อีกทั้งปัจจุบันแม้จะมีเทคโนโลยีไฮเทคต่างๆ เช่น สมาร์ทโฟน ไอแพด แท็บเล็ต แต่หนังสือก็ยังมีความสำคัญอยู่ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถหาความรู้และรับข้อมูลข่าวสารจากเทคโนโลยีได้ ความรู้ต่างๆ ในหนังสือก็ไม่ได้มีอยู่ในอุปกรณ์เทคโนโลยีสมัยใหม่ครบทั้งหมด
“กระทรวงศึกษาฯ หวังว่า จะมีผู้มีจิตศรัทธายอมเปิดบ้านตนเองให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ทำให้สาธารณชนได้เห็นประโยชน์ของการอ่านและกิจกรรมเหล่านี้ โดยช่วยกันบริจาคหนังสือเข้ามาเยอะๆ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาความรู้ของคนไทย และสอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลต้องการให้ประชาชนเรียนรู้ตลอดชีวิต“ รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
.....................................
('บ้านหนังสืออัจฉริยะ'กศน.ดอกเห็ดเล็กๆกระจายความรู้สู่ชุมชน : โดย...สุพินดา ณ มหาไชย)
ห้องสมุดประชาชน "เฉลิมราชกุมารี" อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ขอขอบคุณบทความดีๆจากคุณ สุพินดา ณ มหาไชย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น